การเดินทางไปกลับโรงเรียนของนักเรียนอย่างปลอดภัย องค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งคือ ยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางไปโรงเรียน ในประเทศที่มีการจัดระบบรถโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโรงเรียนลดลงและยืนยันได้ว่า การเดินทางด้วยรถโรงเรียนมีความปลอดภัยมากกว่าการเดินทางด้วยยานพาหนะชนิดอื่นๆ
จากข้อมูลศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า สถิติการเสียชีวิตของเด็กไทย อายุ 1-14 ปี เสียชีวิตจากการขนส่ง เฉลี่ยปีละ 764 ราย อัตราการเสียชีวิต 5 คน ต่อ 100,000 คนต่อปี และยังคงมีสถิติต่อเนื่อง โดยรถโรงเรียนที่ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นรถนอกระบบที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มีการบริหารจัดการโดยเอกชน การควบคุมขาดประสิทธิภาพ และโรงเรียนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกรมการขนส่งทางบก ในการเข้ามาควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งในลักษณะรถสองแถวและรถตู้ กำหนดให้ต้องผ่านการรับรองจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา และนำรถเข้าตรวจสภาพ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ส่วนภายในรถต้องมีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุ เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง
กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถ ห้ามดัดแปลงสภาพรถโดยเฉพาะการเพิ่มเบาะที่นั่งหรือการต่อเติมกระบะท้ายเพื่อให้รับนักเรียนได้มากเกินจำนวนบรรทุกที่ปลอดภัย โดยรถรับส่งนักเรียนที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถโรงเรียน” ติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน มีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงเปิดปิดเป็นระยะติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถ เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน และเลือกใช้มาตรการเด็ดขาด หากพบการฝ่าฝืนให้ระงับการใช้รถทันทีเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนและความมั่นใจของผู้ปกครอง
ด้านผู้ขับรถรับส่งนักเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน และต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียนประจำรถ ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการเสียชีวิตของเด็ก เพราะนอกจากจะเกิดจากรถที่ใช้ในการเดินทางไม่ปลอดภัยแล้ว ยังเกิดจากการไม่มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน หรือมีแต่ไม่ได้ให้ความใส่ใจและรอบคอบเพียงพอในการดูแลเด็กที่โดยสารมาในรถ ทำให้เกิดการหลงลืมเด็กไว้ในรถจนเสียชีวิต
ในส่วนของการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีมาตรการเพื่อให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้รถรับส่งนักเรียนปฏิบัติตามตลอดภาคการศึกษา ดังนี้ มาตรการคัดกรอง พนักงานขับรถรับส่งนักเรียน ผู้ควบคุมนักเรียน จะต้องผ่านการคัดกรอง และตรวจวัดอุณหภูมิ ก่อนการขับรถรับส่งนักเรียน รวมถึงต้องคัดกรองและตรวจวัดอุณหภูมินักเรียนก่อนใช้บริการด้วยเช่นกัน สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง ทั้งพนักงานขับรถ ผู้ควบคุมนักเรียน และนักเรียนที่ใช้บริการ เตรียมแอลกอฮอล์ชนิดเจลหรือชนิดน้ำ สำหรับล้างมือ และทำความสะอาดรถรับส่งนักเรียนก่อนและหลังการให้บริการแต่ละรอบ โดยเฉพาะการเปิดหน้าต่างและประตูเพื่อถ่ายเทระบายอากาศภายในตัวรถ และทำความสะอาดจุดที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ราวจับ ที่เปิดประตู เบาะนั่ง ที่วางแขน
หากทุกโรงเรียนและทุกภาคส่วนมีการบริหารจัดการรถโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียนที่ดี ไม่เพียงแต่แก้ปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการเดินทางได้เท่านั้น แต่จะแก้ปัญหาการหลงลืมเด็กไว้ในรถ การแก้ปัญหารถที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้เข้าสู่ระบบและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงขึ้นอีกด้วย เพื่อให้เยาวชนอนาคตของชาติไม่ต้องประสบอุบัติเหตุในการเดินทางอีกต่อไป
เอกสารอ้างอิง :
1.การบริหารจัดการรถโรงเรียนเพื่อความปลอดภัย สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก
2.ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562
3.หนังสือที่ คค 0408/ว421 วันที่ 2 พฤษภาคม 2561 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการอนุญาตให้ใช้รถรับส่งนักเรียน (เพิ่มเติม)
4.หนังสือที่ คค 0408/ว 253 วันที่ 29 กรกฎาคม 2559 เรื่อง นำส่งคำสั่งนายทะเบียนทั่วราชอาณาจักร ที่ 1/2559 เรื่อง มอบหมายอำนาจให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะอย่าง และซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการอนุญาตให้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลรับจ้างส่งนักเรียน