การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ กำลังเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง เพราะการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่และซ้อนท้าย เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิตสูงขึ้น
1. การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการชนและเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นกว่า 20 เท่า เพราะทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิและปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง
2. การคุยโทรศัพท์ระหว่างการขับขี่ เพิ่มโอกาสการเบรกกะทันหัน เพราะผู้ขับขี่ไม่ทันสังเกตป้ายเตือนหรือสัญญาณไฟ ที่ต้องเตรียมชะลอความเร็วจากระยะไกล ทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนจากรถที่ขับตามมาจนเกิดการเฉี่ยวชนกันได้
3. เนื่องจากต้องละสายตาออกจากเส้นทางเฉลี่ย 4.6 วินาที ซึ่งระหว่างที่ละสายตานั้น จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา
4. โทรศัพท์ขณะขับขี่ผิดกฎหมายและมีโทษ หากคุณใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท และถูกตัดแต้มใบขับขี่ 1 คะแนน
พรบ.จราจรทางบก มาตรา 43 (9) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่13) พ.ศ. 2565 ห้ามผู้ขับขี่ขับรถขณะใช้โทรศัพท์ ยกเว้นการใช้โทรศัพท์โดยไม่ต้องถือหรือจับ หากจำเป็นต้องคุยโทรศัพท์เพื่อติดต่อธุระหรือนัดหมาย ควรเลือกวิธีการ ต่อไปนี้
- ใช้หูฟัง อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบไร้สาย อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยสวมเพียงข้างเดียว เพื่อให้สามารถได้ยินเสียงรถ หรือรับรู้ถึงอันตรายบนท้องถนนได้ หรือเปิดลำโพงสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่
- ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับยึดหรือติดโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้กับส่วนหน้าของตัวรถทุกครั้งก่อนการขับรถ ทั้งนี้ต้องไม่บดบังทัศนวิสัยหรือเสียความสามารถในการขับรถ
- หากผู้ขับขี่มีความจำเป็นต้องถือ จับ หรือสัมผัสโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อใช้งานโดยประการใดๆ ให้ผู้ขับขี่หยุดหรือจอดรถในสถานที่สำหรับจอดรถอย่างปลอดภัยก่อนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว